ประวัติชีวิตและงานของท่านอาจารย์จำเนียร สาระนาค

1. การรับราชการ

1.) เริ่มรับราชการครั้งแรก พ.ศ. 2472 ในตำแหน่งเสมียนชั้น 2 กรมบัญชาการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (กระทรวงการคลัง)
2.) พ.ศ. 2480 โอนมารับราชการในกรมสหกรณ์ (เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ) และเจ้าพนักงานสหกรณ์เขตตามลำดับ คือ
– หัวหน้าแผนกสารบรรณ สำนักงานเลขานุการกรม เมื่อ พ.ศ. 2482
– เจ้าพนักงานสหกรณ์ (เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ) และเจ้าพนักงานสหกรณ์เขตตามลำดับ

3.) พ.ศ. 2498 ได้มีการยกฐานะกรมสหกรณ์ขึ้นเป็นกระทรวงสหกรณ์ โดยอาจารย์จำเนียร สาระนาค ได้สังกัดกรมสหกรณ์ธนกิจ กระทรวงสหกรณ์ และได้ดำรงค์ตำแหน่งสูงขึ้นเป็นลำดับต่อมา คือ
– เป็นหัวหน้ากองควบคุมเงินกู้และธนาคารสหกรณ์
– เป็นผู้อำนวยการกอง กองควบคุมเงินกู้และธนาคารสหกรณ์ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นกองควมคุมเงินกู้ และชุมนุมสหกรณ์)
– เป็นรองอธิบดีกรมสหกรณ์ธนกิจ

4.) เดือนพฤษภาคม 2506 ได้มีการจัดการจัดตั้งกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติขึ้นและยุบกระทรวงสหกรณ์ กรมสหกรณ์ธนกิจได้ถูกรวมกับกรมสหกรณ์พานิชย์เป็นกรมสหกรณ์พานิชย์และธนกิจ สังกัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ อาจารย์จำเนียร สาระนาค ได้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดี กรมสหกรณ์พานิชย์และธนกิจ จนถึงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2509 จึงได้ลาออกราชการเพื่อไปปฎิบัติงานในธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รวมเวลารับราชการประมาณ 37 ปี


2. เครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญที่ได้รับพระราชทาน

1. เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย
2. เบญจมาภรณ์ช้างเผือก
3. จัตรุภาภรณ์มงกุฎไทย
4. จัตรุภาภรณ์ช้างเผือก
5. เหรียญบรมราชาภิเศกเงิน ร.9
6. ตริตาภรณ์มงกุฎไทย
7. ตริตาภรณ์ช้างเผือก
8. เหรียญจักรพรรดิมาลา
9. ทวิติยาภรณ์มงกุฎไทย
10. ทวิติยาภรณ์ช้างเผือก

ทั้งนี้ เครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญที่ได้รับพระราชธานดังกล่าวได้รับระหว่างที่ยังรับราชการอยู่ทั้งสิ้น


3. ภารกิจพิเศษท่านอาจารย์จำเนียร สาระนาค ก่อนจะมาเป็นผู้จัดการ ธ.ก.ส.

1. เป็นผู้แทนกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติเพื่อร่วมพิจารณาร่างกฎหมายสหกรณ์ในคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
2. เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมทางวิชาการระหว่างชาติว่าด้วยเครดิตของสหกรณ์ ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอเนีย สหรัฐอเมริกา
3. เป็นผู้แทนกระทรวงสหกรณ์ในคณะผู้แทนไทย ในการประชุมเรื่องข้าวซึ่ง เอฟ.เอ.โอ. จัดขึ้น
4. เป็นผู้แทนสหกรณ์ในคณะผู้แทนไทย ในการประชุมทางวิชาการว่าด้วยเครดิตทางเกษตรกรรมในตะวันออกไกล ณ กรุงมะนิลา – บาเกียว ประเทศฟิลิปปินส์
5. เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมสินเชื่อการเกษตรและสหกรณ์ภาคตะวันออกไกล ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลี
6. เป็นอาจารย์สอนวิชาสหกรณ์และกฎหมายสหกรณ์ในคณะเศรษฐศาสตร์สหกรณ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ปัจจุบันคือคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ)
7. เป็นกรรมการในคณะทำงานพิเศษดำเนินการจัดตั้ง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
8. เป็นหัวหน้าคณะทำงานเตรียมการจัดตั้ง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
9. เป็นผู้ก่อตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ขึ้นเป็นสมาคมแรกในประเทศไทย

นอก จากที่กล่าวแล้ว ท่านอาจารย์จำเนียร สาระนาค ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และผู้แทนไทย ไปร่วมชุมระหว่างประเทศ ซึ่งจัดให้มีขึ้นทั้งในประเทศ และต่างประเทศอีกหลายครั้ง

4. การทำงานในฐานะผู้จัดการ ธ.ก.ส. คนแรก

พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.2509 ตราขึ้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2509 บังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือวันที่ 21 กรกฎาคม 2509 คณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในการประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2509 ได้มีมติให้ขอความเห็นชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่งตั้งนายจำเนียร สาระนาค เป็นผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2509 และคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ในการประชุมครั้งที่ 3/2509 เวลา 16.00 น. และให้ ธ.ก.ส. เริ่มดำเนินงานโดยมีนายจำเนียรสาระนาค เป็นผู้จัดการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2509 เป็นต้นมา
อาจารย์ จำเนียร สาระนาค ทำงานใน ธ.ก.ส. ตั้งแต่อายุ 56 ปี ถึงกำหนดจะต้องออกจากงาน ธ.ก.ส. เพราะเกษียณอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปี 2513 แต่คณะกรรมการ ธ.ก.ส. เห็นว่า ธ.ก.ส. อยู่ในระยะก่อร่างสร้างตัว ต้องได้ผู้จัดการที่มีความรอบรู้การธนาคาร และมีความชัดเจนงานสินเชื่อการเกษตรเป็นอย่างดีเพื่อวางรากฐานงานนี้ให้เป็น ระบบเป็นขั้นๆ ไปตามลำดับ ทั้งอาจารย์จำเนียรมีสุขภาพดี มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นอย่างยิ่ง ตลอนจนความอุสาหะวิริยะ อุทิศเวลาทั้งหมดให้แก่งาน คณะกรรมการจึงลงมติเป็นเอกฉันท์ให้เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่ออายุการทำงานของ อาจารย์จำเนียร สาระนาค ต่อไปอีก และได้ต่ออายุการทำงานในปีต่อมาให้ทุกปี จนกระทั้งจะครบ 65 ปีบริบูรณ์ในต้นปี 2518 ก็ได้มีการออกพระราชบัญญัติ คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 ออกมาบังคับใช้ อาจารย์จำเนียร จึงต้องพ้นจากตำแหน่งผู้จัดการ ธ.ก.ส. ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2518 เมื่อมีอายุ 64 ปี 11 เดือน รวมเวลาที่ท่านทำงานใน ธ.ก.ส. ตั้งแต่ 19 กันยายน 2509 ถึง 26 กุมภมพันธ์ 2518 รวมทั้งสิ้น 8 ปี 5 เดือน กับ 8 วัน
ในช่วงเวลา 8 ปีเศษ ที่ท่านอาจารย์จำเนียร สาระนาค เป็นผู้จัดการ ธ.ก.ส. อยู่นั้น มีผู้ดำรงตำแหน่งในประธาน ธ.ก.ส. ติดต่อกัน 3 ท่านคือ นายบุญมา วงศ์สวรรค์ , นายสมหมาย ฮุนตระกูล และ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์

ประธาน กรรมการ ธ.ก.ส. แต่ละท่านที่กล่าวมานั้น ล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเป็นบุคคลระดับเยี่ยมยอด เพียบพร้อมด้วยภูมิปัญญา ความเฉลียวฉลาด ความซื่อสัตย์สุจริต และเป็นผู้ที่มีหลักการเคร่งครัดในการใช้จ่ายเงินแผ่นดินอย่างประหยัด เป็นที่เข้าใจว่าประธานกรรมการ และกรรมการ ธ.ก.ส. ทุกท่าน มีความสบายใจในการปฎิบัติงานของอาจารย์จำเนียร สาระนาค ในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และในเรื่องความทรหดอดทนในการทำงานที่เป็นระบบ มีคุณภาพสูง และเชื่อถือได้ในความถูกต้อง ด้วยความรับผิดชอบอย่างสูง งานยากๆ ที่มีประเด็นสลับซับซ้อนแต่ละเรื่องอาจารย์จำเนียร จะศึกษาค้นคว้า พิจารณา ทบทวนไตร่ตรอง และคลี่คลายปัญหาที่คาดว่าจะมีขึ้นไว้ล่วงหน้าทุกขั้นตอน โดยละเอียดแจ่มแจ้ง ท่านได้บากบั่นเขียนคู่มือด้านสินเชื่อ บัญชี การเงิน และอื่นๆ เพื่อให้พนักงานผู้ปฏิบัติมีแนวทางการทำงานที่ถูกต้องมาตั้งแต่เริ่มแรก ส่งผลให้ ธ.ก.ส. สามารถขยายงานได้อย่างต่อเนื่องรวดเร็ว เป็นแบบอย่างมามั่นคงสืบมาจนวันนี้
เป็นที่ทราบกันดีในหมู่พนักงานยุค แรกๆว่า ท่านอาจารย์จำเนียร สาระนาคทำงานโดยไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือวันนักขัตฤกษ์ใดๆ ทั้งสิ้นเพื่อคิดค้นคว้า เขียนวิธีการปฏิบัติงานทุกด้าน แข่งขันกับเวลา เพื่อให้ ธ.ก.ส. ขยายความช่วยเหลือเกษตรกรให้กว้างขวาง พนักงานจะได้รับการปลูกฝังในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ความเสียสละ อุทิศตนเพื่อทำงานสร้างศรัทธาต่อเกษตรกรให้มีความเอื้ออาทร ฉันท์ ญาติพี่น้อง ซึ่งจะก่อให้เกิดความรัก ภักดี จากเกษตรกร ลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง การเบียดเบียน แสวงหาผลประโยชน์จากลูกค้า จะกระทำมิได้เลย การไม่ไปสอบข้อมูลการรับขึ้นทะเบียน ถึงบ้านนาและไร่ ถือเป็นความผิดร้ายแรง เพราะจะทำให้ลูกค้าขาดความเชื่อถือตั้งแต่แรก จึง มีโทษหนักถึงไล่ออก หรือเลิกจ้าง แม้ว่าจะฝืนความรู้สึกแต่ต้องทำเพื่อความมั่นคงของธนาคาร วินัยเหล่านี้ ท่านอาจารย์จะเน้นย้ำ ปลูกฝังอยู่เป็นนิจ ในส่วนความสามัคคีในหมู่พนักงานท่านอาจารย์ได้ขอไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มเข้ามา ทำงานใน ธ.ก.ส. ว่า
“…ไม่ว่าพวกเธอทั้งหลายจะมาจากสถาบันใด มีสีอะไรก็ตาม แต่เมื่อมาอยู่ใน ธ.ก.ส. เรามีสีเดียวคือสี ธ.ก.ส. …”
ปรัชญา และอุดมการณ์ของท่านอาจารย์ข้างต้น มีความหมายสำหรับองค์กรที่จะเติบโตอย่างมั่นคง หากบิดเบือนไป ย่อมส่งผลเป็นตรงกันข้ามจึงฝากพนักงานทั้งมวลพิจารณาให้ถ่องแท้เพื่อ ธ.ก.ส. จะไม่ถึงกาลวิบัติจากการกระทำที่ผิดพลาดของพวกเรา

5. บั้นปลายชีวิตท่านอาจารย์จำเนียร สาระนาค 

หลังจากที่ท่านเกษียณ (เมื่ออายุ 65 ปี) ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2518 ท่านอาจารย์จำเนียร ยังคงอยู่ช่วยทำงานให้แก่ ธ.ก.ส. ต่อมาอีกระยะหนึ่งโดยได้เขียนคู่มือวิธีปฏิบัติงานที่ยังค้างอยู่จนถึงวัน ที่ 18 มิถุนายน 2518 จึงได้อยู่กับบ้านตั้งแต่นั้นมา และได้ล้มป่วยลงด้วยโรคอัมพาดเมื่อประมาณกลางปี 2550 เดินไม่ได้ แขนขวาใช้งานไม่ได้ ญาติได้พยายามพาไปรักษาหลายแห่ง ซึ่งอาการทุเลาลงขึ้นบ้างเล็กน้อย แต่แขนขวาก็ใช้เขียนหนังสือไม่ได้ อาจารย์จำเนียร ได้พยายามใช้แขนซ้ายเขียนหนังสือได้บ้าง

ประมาณกลางเดือนเมษายน 2524 หลังจากได้รับพิจารณาจากแพทย์แผนปัจจุบันกับแผนโบราณผสมกัน อาการจึงดีขึ้นมาก สามารถลุกนั่งสามารถลุกนั่งและเดินได้ แต่ต่อมามีโรคแทรกซ้อน คือท้องเสีย ท้องผูก อ่อนเพลีย จนไม่สามารถทรงตัวได้อีก มีอาการทรงกับทรุด และได้ถึงแก่กรรมด้วยอาการอันสงบ ตอนเย็นวันที่ 1 พฤศจิกายน 2524 รวมอายุได้ 71 ปี 7 เดือนเศษ